ณรุทธ์ สุทธจิตต์
ในทัศนะให้คำจำกัดความคำว่า “ดนตรีศึกษา” อย่างไรความสำคัญของดนตรีศึกษาอยู่ที่การ สร้างและพัฒนาทั้งผู้ฟัง ผู้แสดง ครูดนตรี และนักวิชาการทางดนตรีศึกษาเพื่อให้ดนตรีที่มีอยู่ในสังคม เป็นวัฒนธรรมที่น่าภาคภูมิใจของสังคม ช่วยให้ผู้เรียนซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ต่อไปในฐานะของ ผู้ฟัง รู้จักรักษาและดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมดนตรี ช่วยให้ผู้เรียนในฐานะของผู้แสดงมีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง สามารถพัฒนาความสามารถของตนต่อไปได้อย่างไม่มีขอบเขต และที่สำคัญ คือ การสร้างครูดนตรีที่มีคุณภาพในการสอนผู้เรียนให้มีความรู้ความเข้าใจ และสามารถซาบซึ้งในดนตรีได้อย่างแท้จริง ตามบทบาทและฐานะของตน มีทักษะการจัดการเรียนรู้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้เรียนพัฒนาความรู้ความสามารถในฝีมือของตนได้ อย่างไร้ข้อจำกัด มิใช่เป็นเพียงผู้ถ่ายทอดเทคนิควิธีเล่นดนตรี หรือเนื้อหาสาระดนตรีให้กับผู้เรียนอย่างไร้จุดหมาย
ณรุทธ์ สุทธจิตต์
จาก ดนตรีศึกษา: หลักการและสาระสำคัญ
“ดนตรีศึกษามีความหมายสองนัย นัยแรกเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับศาสตร์ทางครุศึกษา หรือเป็นการเรียนการสอนในคณะครุศาสตร์ ในลักษณะสาขาวิชาหรือวิชาเอกดนตรีศึกษา เป็นการเตรียมตัวผู้เรียนเพื่อการเป็นครูดนตรีที่ดี ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษา ดนตรีศึกษาในความหมายนี้ เกี่ยวข้องกับองค์ความรู้ ๒ สาขา คือ สาขาการศึกษา และสาขาด้านดนตรีทั้งในเชิงทฤษฎีและทักษะปฏิบัติดนตรี ซึ่งหมายรวมถึงการเรียนการสอนดนตรีด้วย
อีกนัยหนึ่งเป็นนัยที่มีความกว้างไกล กว่า ได้แก่การจัดการศึกษาด้านดนตรีไม่ว่าในรูปแบบใด เช่น คณะศิลปกรรมศาสตร์ มีการจัดการศึกษาทางดนตรีให้แก่คนที่เรียนวิชาเอกดนตรี จำเป็นต้องจัดการเรื่องเกี่ยวกับหลักสูตรและการสอนให้เป็นระบบ ซึ่งจัดเป็นเรื่องของดนตรีศึกษาในความหมายนี้
กล่าวโดยสรุป ดนตรีศึกษา โดยทั่วไปหมายถึงสาขาวิชาเฉพาะ ซึ่งเป็นสาขาวิชาหนึ่งในคณะครุศาสตร์ที่ผลิตครูและนักดนตรีศึกษา
การเรียนการสอนดนตรีศึกษาในสังคมไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เป็นอย่างไรบ้าง
“ประเทศเราตามประเทศอื่นอยู่ไกลนะ เพราะดนตรีศึกษาที่ต่างประเทศเขาเกิดก่อนเราเป็นร้อยปีแล้วต้องเข้าใจว่า บางประเทศมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบ แต่ถ้าเราบอกว่า เราก็มีการเรียนการสอนมานานแล้วนะ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ นานแล้วก็จริง แต่มันก็เป็นแบบอยู่ไปอย่างนั้น ความสำคัญก็แค่นั้น สิ่งที่ได้มีสาระในตัวของมันเอง มีความลึกซึ้ง แต่ไม่กว้างขวาง ไม่ยิ่งใหญ่ ไม่อยู่ในกระแสของสังคม
“แต่ในหลายประเทศ มีการจัดตั้งสมาคมทางดนตรีศึกษา และดำเนินภาระกิจอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา เรื่องดนตรีศึกษาที่นี่มันกว้างไกลมาก มีสมาคมที่มีอธิพล คือ MENC มีการจัดประชุม มีการออกวารสาร มีการออกระบบระเบียบอะไรต่าง ๆ ถ้าจะอยู่วงการดนตรีศึกษาต้องทำอะไรร่วมกัน อย่างนี้ จึงจะมีผลกระทบต่อสังคมสูง ปัจจุบัน วงการดนตรีศึกษาของไทยยังอยู่ในสภาพต่างคนต่างทำ ตัวใครตัวมัน”
ปัจจุบันงานวิจัยด้านดนตรีศึกษาในประเทศไทยเพียงพอหรือยัง
“เพียงพอไหม พูดไปแล้วงานวิจัยไม่เคยเพียงพอ การวิจัยเป็นการค้นคว้าหาความรู้ที่ไปได้เรื่อยๆ งานวิจัยเป็นเรื่องของรายละเอียด เป็นการมองในเชิงลึก ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ และเป็นการพิสูจน์ข้อเท็จจริง
“งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับดนตรีศึกษา ยังขาดงานในระดับนโยบาย ตัวหลักสูตร ตัวครู และตัวนักเรียน พูดได้เลยว่า นิสิตไม่ชอบทำงานวิจัย คือวิทยานิพนธ์ในขอบเขตดังกล่าว คณาจารย์ก็เช่นเดียวกัน งานวิจัยที่ออกมาส่วนใหญ่จะเป็นแนวเจาะลึกมากกว่า เช่น เรื่องการสอน นิสิตจะชอบทำกันมาก แต่ถ้าจะให้วิเคราะห์หลักสูตร หรือทำเกี่ยวกับการรับรู้ของผู้เรียน ว่าเด็กมีการเรียนรู้ดนตรีในแง่มุมต่าง ๆ อย่างไร เราจะทำอย่างไรให้ผู้เรียนเรียนได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องจิตวิทยาการรับรู้ นิสิตจะไม่ชอบทำกัน
“ในระดับนโยบายก็เช่นกัน การมองอะไรในมุมกว้าง ๆ ดูอะไรที่เป็นเรื่องภาพรวมหรือองค์รวมในเชิงนโยบาย เช่น ดนตรีศึกษาของไทยควรพัฒนาไปในแนวทางใด หรือดนตรีในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานควรเป็นอย่างไร หรือควรพัฒนาอย่างไร เพื่ออะไร ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครหรือในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น ซึ่งส่วนนี้ยังขาดอยู่มาก
“โดยส่วนตัวที่ต้องการเห็นมาก ๆ ก็คือ การวิจัยทางดนตรีศึกษาที่เกี่ยวกับดนตรีไทย เพราะถ้าจะพูดถึงเรื่องดนตรีไทย ด้วยความที่มีการเรียนการสอนที่ไม่เหมือนใคร ในฐานะที่เป็นนักการศึกษา ต้องการเข้าไปดูว่าคนดนตรีไทยทำอะไรกัน ทำอย่างไร เพื่อนำมาตีแผ่เป็นงานวิจัย ซึ่งต้องทำหลายแง่มุม ทั้งด้านผู้เรียน ผู้สอน หลักสูตรและการสอน
“เรื่องการสอนคิดว่าทำง่าย เพราะเพียงเก็บข้อมูล แต่เรื่องหลักสูตรจะยาก เพราะถ้าเราเข้าไปถามเขาว่า การเรียนการสอนของดนตรีไทยมีหลักสูตรไหม มักจะได้รับคำตอบว่าไม่มี แต่ที่จริงมันมีนะ หลักสูตรอยู่ในหัวสมองของครู เพียงไม่ได้เขียนออกมาเป็นตัวหนังสือเท่านั้น ฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเข้าไปถามคนดนตรีไทยว่า ความรู้ที่อยู่ในหัวสมองของเขาคืออะไร
“ดนตรีไทยของเรามีอะไรที่เป็นสิ่งดี ๆ มากมาย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเรา แล้วเขาก็อยู่ของเขาอย่างนั้นมานาน ไม่มีใครที่จะไปดึงออกมาให้มันเป็น Music Education ซึ่งถ้าจะทำต้องทำให้ถูกต้องด้วย เพราะถ้าคุณทำผิด มันจะไม่เป็น Music Education ที่แท้จริง แต่มันจะกลายเป็น Ethnomusicology อยู่ดี”
ครูดนตรีในอุดมคติของอาจารย์จะต้องเป็นอย่างไร
“ถ้าเป็นครูดนตรีขั้นพื้นฐานนี่ต้องเก่ง จะมาอ้อๆ แอ้ๆ ไม่ได้ ต้องเก่งในด้านที่สอน ถ้าสอนทฤษฎี ก็ต้องเก่งทฤษฎี ถ้าสอนปฏิบัติ ต้องเก่งปฏิบัติ นอกจากนั้น ต้องมีความสามารถทำงานวิจัยควบคู่ไปด้วย อย่างเช่นวิจัยในชั้นเรียน ซึ่งอาจจะไม่หนักเท่ากับในระดับมหาวิทยาลัย แต่คุณต้องทำให้ได้ ไม่เช่นนั้นคุณจะเจริญยาก
“สำหรับระดับอุดมศึกษา ต้องคิดเป็น จะสอนแต่ทักษะอย่างเดียวไม่ได้ คุณต้องอ่านงานวิจัยควบคู่ไปกับการสอนด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้สอนต้องก้าวไปมากกว่าลูกศิษย์ ฉะนั้นในความที่คุณเป็นครูในระดับมหาวิทยาลัย แม้ว่าคุณจะสอนวิชาทักษะ ด้วยเหตุว่าคุณมี ฝีมือ เพียงอย่างเดียวไม่ได้ คุณต้องค้นคว้าหาความรู้ในเชิง Pedagogy เพื่อนำมาสอนลูกศิษย์ของคุณให้พัฒนาฝีมือและกลยุทธ์การสอนควบคู่กันไปด้วย
“ไม่ใช่ว่าชั้นรู้มาอย่างนี้ชั้นก็จะ สอนแบบนี้ มันไม่ใช่ แต่คุณจะมีวิธีการอย่างไรในการถ่ายทอด ที่จะให้ลูกศิษย์ของคุณมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น หรือง่ายขึ้น การสื่อสารหรือเทคนิคการสอนจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเรื่องพวกนี้เป็นสิ่งที่ต้องศึกษาพัฒนาและเรียนรู้เพิ่มเติมทั้งสิ้น
ประการต่อมา คุณต้องมีทักษะในการทำวิจัย โดยเฉพาะในอนาคต คุณอยู่ไม่รอดแน่ ถ้าคุณไม่ทำวิจัย หรือเขียนตำราไม่เป็น คนในระดับอุดมศึกษาต้องคิด ต้องทำ คุณต้องคิดว่า ถ้าคุณจะเขียนงานวิจัย คุณจะเขียนอย่างไรให้ดี หรือต้องเขียนตำรา คุณจะเขียนอย่างไรให้ออกมาดี มีคุณภาพ ไม่ใช่จะไม่ทำท่าเดียว
“การที่คุณนำความรู้เรื่องทักษะปฏิบัติ มาเขียนเป็นตำรา ย่อมเป็นประโยชน์ต่อไปในวงกว้างอย่างยิ่งเพราะถ้าผู้อ่านเขาไม่เคยพบคุณ แต่เขาอ่านตำราของคุณ เขาย่อมได้รับความรู้ที่เป็นประโยชน์ และถ้าวันหนึ่งเขาได้มาเรียนกับคุณจริง ๆ ความรู้ความเข้าใจมันก็จะเพิ่มพูนขึ้นไปอีก
“แต่ถ้าจะบอกว่า ไม่เขียน ไม่ทำ มาเรียนกับฉันก็แล้วกัน ลองคิดดู ถ้าคุณเสียชีวิตไป วิชาความรู้ของคุณก็จะตายตามไปด้วย สมมุติว่า ผมเป็นคนแรกที่เรียนเรื่องโคดาย แต่ผมไม่เขียนหนังสือ มันก็จบ เพราะจะไม่มีใครรู้เลยว่าโคดายคือใคร โคดายเคยทำอะไร”
มองเรื่องหลักสูตรศิลปะและดนตรีในระดับประถมและมัธยมอย่างไร
“ถ้าพูดไปตามธรรมชาติ ศิลปะกับดนตรีมันมีความสำคัญ เพราะช่วยพัฒนาสมอง คนโดยส่วนใหญ่ก็รู้กันอย่างนี้ แต่พอเอาเข้าจริง ๆ คนที่จัดหลักสูตรไม่เคยให้ความสำคัญเลย เรียกร้องไปก็ได้เท่านี้ เพราะคนคิดเขามีวิธีคิดแตกต่างจากพวกเรา
“ถามว่าคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ ถ้าเพิ่มเวลาเรียนได้มันก็จะดีเป็นอย่างยิ่ง สำหรับดนตรี โดยทั่วไป ก็มีทางออกของโดยนัยของดนตรีเอง สำหรับเด็กที่มีความสนใจ เขาก็เรียนหลักสูตรพิเศษคือช่วงเช้าหรือช่วงเย็น อย่างในห้องเรียนมันก็ไม่ได้เลวร้ายจนเกินไป เด็กได้เรียนดนตรี ได้เรียนศิลปะ ได้เรียนรำ จึงเป็นสภาพที่พอรับได้ในระดับหนึ่ง
“แต่ถ้าจะปรับปรุง คุณต้องเริ่มตั้งแต่ระดับอนุบาล เพราะระดับอนุบาลสำคัญมาก เนื่องจากเป็นช่วงเวลาสำคัญในการวางรากฐานความคิด ความรู้สึก จึงควรมีครูดนตรีที่มีความรู้อย่างถูกต้อง บางโรงเรียนบอกว่า โรงเรียนของตนมีการสอนดนตรี แต่ลองเข้าไปดูสิ ร้องเพลงก็ร้องกันแบบตะโกน ปรบมือบ้าง เล่นเครื่องดนตรีหน่อย วิ่ง หรือเคลื่อนไหวเข้าจังหวะอีกนิดจบแล้ว การปฏิบัติเช่นนี้ มิใช่การสอนดนตรีเลย เด็กอนุบาลควรมีโอกาสได้เรียนรู้ดนตรีอย่างถูกต้องเพื่อพัฒนาความรู้ความ สามารถทางดนตรี แม้แต่การอ่านโน้ตก็สามารถทำได้ โดยการอ่านสัญญาณมือ ตบและอ่านรูปแบบจังหวะง่าย ซึ่งเป็นการสร้างแนวคิดทางดนตรีจากการปฏิบัติที่สนุกสนาน
“ในปัจจุบัน มีสถาบันที่เปิดสอนดนตรีเป็นจำนวนมาก แล้วก็เปิดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งไม่ได้มีแต่เฉพาะในกรุงเทพฯ เท่านั้น เดี๋ยวนี้ที่เชียงใหม่เขาก็เริ่มมีแล้ว อย่างเวลานักเรียนมาสอบเข้าศึกษาที่นี่ คณาจารย์ต่างมีความเห็นตรงกันว่า มาตรฐานสูงขึ้นเมื่อเทียบกับ ๑๐ ปี หรือ ๒๐ ปีที่แล้ว โดยเฉพาะบางเครื่องมือ นักเรียนที่มาสอบมีความความสามารถทางทักษะสูงมาก เช่นเปียโนหรือขับร้องสากล แสดงว่าพื้นฐานดนตรีจากการเรียนระดับประถมและมัธยมมีคุณภาพมาก”
มองเรื่องหลักสูตรครู ๖ ปี อย่างไร
“ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่ก็ยังไม่ได้ศึกษาอย่างลึกซึ้งถึงความเป็นมา เท่าที่ทราบ โครงการนี้พัฒนามาจากหลักสูตร ๔ ปี เป็น ๕ ปี ซึ่ง ๕ ปี คิดว่าเป็นระยะเวลาที่ไม่นานเกินไปในการเรียน แต่ถ้าเป็นหลักสูตร ๖ ปี กว่าผู้เรียนจะจบการศึกษาไปดำเนินอาชีพเป็นครู ผมคิดว่าการใช้เวลาเรียนนานเกินไปสำหรับบริบทของสังคมไทยในขณะนี้ เนื่องจากเหตุผลหลายประการ ทั้งเรื่องทางวิชาการ ทางการเงิน และปัจจัยอื่น ๆ ในบางสังคมที่พัฒนามากแล้ว เช่นประเทศฟินแลนด์ ระบบการศึกษาของเขาเป็นอันดับหนึ่งของโลก เพราะทุกคนมีการศึกษาสูงทั้งหมด การกำหนดหลักสูตร ๖ ปี เป็นสิ่งที่เหมาะสมกับสังคมของเขา เพื่อพัฒนามาตรฐานทางการศึกษให้มันสูงยิ่งขึ้น
“เมื่อกล่าวถึงรายละเอียดของหลักสูตร ๖ ปี สิ่งสำคัญ คือ การทำวิทยานิพนธ์ เนื่องจากเป็นหลักสูตรปริญญาโท ผู้เรียนบางคนไม่สามารถทำวิทยานิพนธ์จบได้ในเวลากำหนด ทำให้ต้องเสียเวลาเรียนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผู้เรียนบางคนไม่พร้อมที่จะทำวิทยานิพนธ์ เนื่องจากเป็นการวิจัยที่ต้องการความรู้และทักษะ การทำงานวิจัยไม่ใช่อยู่ดี ๆ แล้วจะทำได้นะ ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ ซึมซับมาก การจะมาบังคับว่า ทุกคนต้องจบภายใน ๖ ปี ดังเช่นหลักสูตรปริญญาตรีเป็นไปได้ยาก ตัวอย่างเช่น หลักสูตรปริญญาโทดนตรีศึกษาที่นี่ เป็น หลักสูตร ๒ ปี แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่ไม่จบ ๒ ปี เพราะยังไม่พร้อมในหลายๆ ด้าน นอกจากนี้ ความพร้อมของคณาจารย์ในการดูแลการทำวิทยานิพนธ์ นอกเหนือจาการสอนเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างจริงจัง เพื่อมุ่งไปสู่คุณภาพ
“ฉะนั้น ใครจะรับประกันได้ว่าเด็กจะจบภายใน ๖ ปีที่กำหนด ดีไม่ดีเด็กจะต้องเรียนถึง ๖ ปีครึ่ง เป็น ๗ ปี อย่างนี้มันไม่คุ้ม กว่าผู้เรียนจะออกไปเป็นครูเสียเวลาตั้ง ๖ – ๗ ปี แล้วถ้าเด็กบอกว่าไม่เรียนแล้ว ออกกลางครันโดยไม่จบการศึกษา สภาพเช่นนี้ทำให้เสียหายแก่บ้านเมืองอย่างมาก
“ฉะนั้น ๔ ปีสำหรับปริญญาตรี ต่อ ๒ ปีปริญญาโท และ ๓ ปีสำหรับปริญญาเอก เป็นหลักสูตรที่ดีกว่า ซึ่งเหมาะกับสังคมที่การศึกษายังไม่สูง เด็กเราหลายคนยังไม่ได้รับการศึกษาที่ดี แต่ถ้าในอนาคตทุกคนจบปริญญาตรีทั้งประเทศ แล้วมานั่งคิดกันใหม่ว่าควรขยับเป็นหลักสูตร ๖-๗ ปีดีไหม นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก แต่นี่จะยุบจากเดิม ๕ ปี ทำเป็น ๖ ปีแล้วได้ปริญญาโท หมายความว่า คุณกลับมาใช้หลักสูตรที่คล้ายของเดิม”
ถ้าในอนาคตนโยบายหลักสูตรครู ๖ ปี ได้ใช้ขึ้นมาจริง ๆ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น
“ต้องมีการทดลองหรือทำวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่ถ้าคิดด้วยประสบการณ์ ซึ่งก็ไม่ได้บอกว่ามันจะถูกหรือผิดนะ คือในเรื่องทักษะปฏิบัติเด็กที่เข้าใหม่เก่งแน่นอน แต่ในเรื่องวิชาการที่จะต้องศึกษาเชิงทฤษฎีทั้งหมด แม้แต่เรื่องประวัติศาสตร์ดนตรีเอง บางคนก็ยังไม่พร้อมจะเรียน แล้วจะต้องมาทำงานวิจัยอีก ไม่เกินความสามารถ หรือความพร้อมของผู้เรียนไปหน่อยหรือ
“เพราะกว่าเขาจะหาเรื่องวิจัยได้ โดยจะต้องไม่ซ้ำกับใคร และต้องคำนึงถึงคุณภาพด้วย เพราะเป็นการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี มันไม่เหมือนระดับปริญญาโท ที่จะต้องมีการสอบโครงร่างจริง ๆ มีกรรมการสอบ ซึ่งปริญญาตรีจะทำอย่างนั้นไม่ได้
“ปริญญาตรีก็รับรู้ได้ในระดับของเขา แต่พอมาเรียนปริญญาโท การเรียนการสอนแตกต่างกันมาก ต้องมีการวางพื้นฐานเรื่องการวิจัยที่ลึกซึ้งมากกว่า แต่ถ้าบอกว่า อย่างนั้นก็ทำวิจัยง่ายๆ สิ จะทำวิจัยยากๆ กันไปทำไม ถ้าเป็นเช่นนี้ ต่อไปนี้ใครจบครุศาสตรบัณฑิต หรือครุศาสตรมหาบัณฑิต มาตรฐานการศึกษาอยู่ที่ไหน พูดง่าย ๆ คือ ควรเอาสมองคิดเรื่องหลักสูตร ๖ ปี ไปคิดและพัฒนาเรื่องอื่นๆ จะดีกว่า เช่นการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยให้การศึกษาระดับอุดมศึกษาดีขึ้นได้ด้วย”
ในความคิดควรปรับปรุงและพัฒนาเรื่องอะไรเป็นพิเศษที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาไทย
“ควรพัฒนาปรับปรุงการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างจริงจังให้แข็งแกร่งกว่านี้ ให้มีมาตรฐานเท่าเทียมกันทั่วประเทศ นอกจากเรื่องงบประมาณที่ควรมีการเพิ่มขึ้นแล้ว ควรมีระบบการจัดการและการบริหารที่ดีด้วย คือให้คนในประเทศนี้ทุกคนมีโอกาสที่เกิดเป็นคนไทยแล้วได้เรียนหนังสือ จนจบ ม.๖ จริง ๆ อย่างมีคุณภาพ
“ไม่ว่าเด็กจะอยู่ส่วนไหนของประเทศ เด็กควรเรียนรู้และได้รับอะไรที่มันเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพความเป็นคนไทย จะทำอย่างไรให้ทุกพื้นที่มีความแตกต่างในเรื่องคุณภาพน้อยกว่านี้ เช่นเราอยู่ต่างจังหวัด จริงอยู่มีคอมพิวเตอร์มีอินเทอร์เน็ต แต่ในความเป็นจริงแล้วมันใช่ไม่ค่อยได้นะ อย่างนี้รัฐควรไปลงตรงนั้นให้ระบบมันสมบูรณ์ไม่ดีกว่าหรือ
“ในประเทศฟินแลนด์ เมื่อกล่าวถึงเรื่องของสื่อ เรื่องของเทคโนโลยี เด็กนักเรียนไม่ว่าจะเรียนอยู่ที่ไหนของประเทศ รัฐรับรองได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า มาตรฐานเท่าเทียมกันทั้งหมด เพราะฉะนั้นไม่ต้องขวนขวายว่า ตนจะต้องเข้ามาเรียนจุฬา ฯ ธรรมศาสตร์ หรือมหิดล จะไปเรียนที่ไหนไม่สนใจ เขาก็เลือกที่เรียนที่ใกล้บ้านของเขา
“หรือคุณจะไปพัฒนาลงทุนทางด้านอาชีวะ เพราะสายอาชีวะก็เป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องเข้ามหาวิทยาลัยกันทั้งประเทศ จบออกมาไม่สามารถหางานที่เหมาะสมกับความรู้ได้ อย่างนี้มันไม่ถูก ควรให้เด็กมีความภาคภูมิใจได้ว่า แม้จะจบจากวิทยาลัยทางด้านอาชีวะ แต่ก็มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน”
คิดเห็นอย่างไรกับคำว่า “การศึกษาไทยล้มเหลว”
“ถ้าจะพูดคำว่าล้มเหลว ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เราคิดว่าเรื่องดนตรีของเราไม่เคยล้มเหลว แต่ถ้าจะกล่าวโดยภาพรวมแล้ว จำเป็นต้องให้ความหมายให้ตรงกัน ว่าภาพรวมของความล้มเหลวคืออะไร เราอยาจจะต้องหาข้อมูลในแต่ละเรื่อง และนำมารวบรวมเป็นภาพรวมเพื่อให้เห็นอย่างชัดเจนว่า โดยภาพรวมการศึกษาไทยล้มเหลวหรือไม่ เพื่อให้เห็นภาพอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม
“เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ปัจจุบันมีเด็กจบปริญญาตรีเป็นจำนวนมากขึ้น แต่เรื่องตกงานหรือไม่ตกงานนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วอย่างนี้จะว่าการศึกษาไทยล้มเหลวได้อย่างไร แต่ถ้าจะพูดคำว่าล้มเหลว ผมว่าความล้มเหลวทางการศึกษา คือความด้อยด้านคุณภาพมากกว่า เพราะคุณภาพของเด็กที่จบปริญญาตรีจากบางสถาบันยังไม่ดีเท่าที่ควร
“สำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียนที่เรียนจบจากโรงเรียนหลายแห่งชั้น ป. ๔ หรือ ป. ๖ เขียนได้แต่ชื่อของตัวเอง สภาพเช่นนี้กล่าวได้ว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานล้มเหลว หรือควรมีการพัฒนาปรับปรุงอย่างเร่งด่วนมากกว่าการศึกษาในระดับอุดมศึกษา สำหรับคุณภาพของการศึกษาระดับอุดมศึกษาดูจะมีปัญหาน้อยกว่า เนื่องจากมีมหาวิทยาลัยของไทยติดอันดับโลก เช่น จุฬา ฯ หรือมหิดล ขณะที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งมีปัญหาเรื่องคุณภาพ เช่น มีข่าวเรื่องมหาวิทยาลัยทางภาคอีสานแห่งหนึ่งขายปริญญาระดับ ป.บัณฑิต รัฐควบคุมอย่างไรล่ะ อย่างนี้มาตรฐานก็ต่างกันแล้ว”